วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

2.ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย (Background & Rationale)



มาฆะ  ทิพย์คีรี (2545 : 20) กล่าวว่าการเขียนที่มาและความสำคัญของโครงงานวิทยาศาสตร์ ผู้ทำโครงงานจำเป็นต้องศึกษา หลักการทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจจะศึกษา หรือพูดเข้าใจง่าย ๆ ว่าเรื่องที่สนใจจะศึกษานั้นต้องมีทฤษฎีแนวคิดสนับสนุน เพราะความรู้เหล่านี้จะเป็นแนวทางสำคัญในเรื่องต่อไปนี้การเขียนที่มาและความสำคัญของโครงงาน คือ การอธิบายให้กระจ่างชัดว่าทำไม ต้องทำ ทำแล้วได้อะไร หากไม่ทำจะเกิดผลเสียอย่างไร ซึ่งมีหลักการเขียนคล้ายการเขียนเรียงความ ทั่ว ๆ ไป คือ มีคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป

จิตราภา กุณฑลบุตร (2550:23) กล่าวว่า  การเขียนความสำคัญและความเป็นมาของการวิจัย เป็นการเขียนเพื่อตอบคำถามว่าเหตุใดจึงต้องวิจัยเรื่องนี้ ข้อค้นพบจากการวิจัยจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร มีความคุ้มค่าหรือไม่ในการวิจัยเรื่องดังกล่าว นิยมเขียนเน้นความเรียงที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผล มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเนื้อหาสาระ โดยให้มีความกระชับเข้าใจง่าย การเขียนนำเข้าสู่ปัญหาวิจัยควรเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวปัญหา โดยเขียนให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ณ เวลาปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยในอดีตที่สามารถตอบปัญหาดังกล่าวได้ และปัญหาดังกล่าวสมควรได้รับการแก้ไขด้วยการหาคำตอบ โดยกระบวนการวิจัย

นิภา ศรีไพโรจน์ (http://www.watpon.com/Elearning/resกล่าวว่า  ความสำคัญและที่มาของปัญหา หรือคำนำ หรือภูมิหลัง อาจใช้คำว่า หลักการและเหตุผลหรือที่มาของปัญหาก็ได้ เพราะมีความหมายเหมือนกัน การเขียนคำนำหรือภูมิหลังเป็นการชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา ว่าปัญหานั้นคืออะไร มีจุดเริ่มต้นหรือแหล่งกำเนิดมาจากอะไร ซึ่งผู้วิจัยควรอ้างทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องด้วย อาจสอดแทรกผลงานวิจัยบางเรื่องที่เด่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงลงไปในตอนท้ายของคำนำ โดยมากมักนิยมบอกเหตุผลหรือแรงจูงใจที่ทำให้ตัดสินใจทำการวิจัยเรื่องนั้นด้วย การเขียนคำนำที่ดีมีควรลักษณะดังนี้
          1.1 ต้องสามารถชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาอย่างชัดเจน
          1.2 ต้องบอกเหตุผลที่ทำการวิจัยอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยปราศจากข้ออคติส่วนตัวของผู้วิจัย
          1.3 ต้องชี้ให้เห็นความสำคัญของปัญหาพร้อมทั้งประโยชน์ที่สำคัญที่จะได้รับจากการวิจัยนั้น โดยอาจสอดแทรกผลงานวิจัยหรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของบุคคลที่มีชื่อเสียงลงไปด้วย เพื่อให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
          1.4 ต้องใช้ภาษาให้ถูกต้อง กะทัดรัดได้ใจความและตรงจุด มีลักษณะการบรรยายที่สละสลวยและพยายามเรียงลำดับความคิดให้ต่อเนื่องกัน
          1.5 ข้อความที่เขียนต้องมีลักษณะเป็นการวิเคราะห์ แยกแยะปัญหาอย่างมีเหตุผล เพื่อให้เกิดความเข้าใจในปัญหาชัดเจนขึ้น

               สรุป
                ความสำคัญและความเป็นมา เป็นการเขียนเพื่อตอบคำถามว่าเหตุใดจึงต้องวิจัยเรื่องนี้ ข้อค้นพบจากการวิจัยจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร มีความคุ้มค่าหรือไม่ในการวิจัยเรื่องดังกล่าว นิยมเขียนเน้นความเรียงที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผล มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเนื้อหาสาระ โดยให้มีความกระชับเข้าใจง่าย  เป็นการชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา ว่าปัญหานั้นคืออะไร มีจุดเริ่มต้นหรือแหล่งกำเนิดมาจากอะไร ซึ่งผู้วิจัยควรอ้างทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องด้วย อาจสอดแทรกผลงานวิจัยบางเรื่องที่เด่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงลงไปในตอนท้ายของคำนำ โดยมากมักนิยมบอกเหตุผลหรือแรงจูงใจที่ทำให้ตัดสินใจทำการวิจัยเรื่องนั้นด้วย

                อ้างอิง
          จิตราภา  กุณฑลบุตร. (2550). การเขียนความสำคัญและความเป็นมาของการวิจัย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.
       นิภา ศรีไพโรจน์. (ออนไลน์). (http://www.watpon.com/Elearning/res21.htm.). เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555.
       มาฆะ ทิพย์คีรี. (2545). คู่มือการจัดการเรียนรู้โครงงานวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ : พัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว) จำกัด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น