วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

4.คำถามของการวิจัย (Research Question (s))


สุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย (2550 : 149) ได้อธิบายความหมายไว้ว่า คำถามวิจัย(Research Questions) หมายถึง ข้อความที่เป็นประโยคคำถาม ซึ่งแสดงให้เห็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการค้นหาคำตอบ คำถามวิจัยและประเด็นวิจัย(Research Issues) มีความคล้ายคลึงกัน เช่น  ผู้สนใจศึกษาประเด็นวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญผู้อ่านอาจคาดเดาว่าสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจ คือ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือการวิเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่ปรากฏอยู่ทั่วไป แต่หากปรับเป็นคำถามวิจัย จะทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นที่ศึกษามากขึ้น เช่น  “รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญควรมีลักษณะเช่นใด ประกอบด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง ผลการใช้รูปแบบดังกล่าวส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ (2553 : 7) กล่าวว่า การตั้งคำถามเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะคำถามวิจัยที่ผู้วิจัยตั้งขึ้นบ่งบอกให้ทราบถึงประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการทราบหรือทำความเข้าใจในเรื่องที่เลือกเป็นหัวข้อวิจัยนั้นๆ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้วิจัยประเมินว่าต้องทำงานวิจัยอย่างไรและในทิศทางใด จึงจะนำไปสู่คำตอบของคำถามนั้นๆ ทั้งนี้ผู้วิจัยอาจเริ่มตั้งคำถามด้วยวลีคำถาม เช่น อะไร อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร กับใคร ตัวอย่างเช่น
-หัวข้อวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของอะไร และประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง
-ความเป็นมาของเรื่องนี้เป็นอย่างไร
-เรื่องนี้สามารถจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในประเภทใด
-เรื่องนี้มีอะไรดี สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง
เมื่อรวบรวมคำถามที่ตั้งขึ้นมาแล้ว ควรจัดกลุ่มของคำถาม และมุ่งความสนใจไปยังคำถามที่ขึ้นต้นด้วยทำไม หรืออย่างไร และพิจารณาว่าคำถามไหนที่ผู้วิจัยสนใจและอยากรู้คำตอบที่สุด คำถามนั้นจะเป็นคำถามสำหรับงานวิจัยของผู้วิจัย

http://lccu502.blogspot.com/2008/12/blog-post.html   กล่าวว่า หัวข้อวิจัยมีที่มาได้จากหลายทาง เช่น ความสนใจของผู้วิจัยเอง การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรามีความสนใจ จากทฤษฎีและแนวคิดที่เกี่ยวในวงวิชานั้นๆ จากข่าว/หรือความสนสนใจของคนในสังคม จากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้นจากหัวข้อ/ประเด็นกว้างๆ นักวิจัยต้องกำหนดประเด็นให้แคบลง และมีความชัดเจนมากขึ้น เราเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า การตั้งคำถามการวิจัย (formulate research question) ด้วยการที่ผู้วิจัยนำ concept หนึ่ง หรือหลาย concept มาประกอบกันเพื่อกำหนดประเด็นในการศึกษา

สรุป
 คำถามวิจัย คือ ข้อความที่เป็นประโยคคำถามซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการค้นคว้าหาคำตอบ ทั้งนี้คำถามการวิจัยควรเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือไม่สามารถหาคำตอบได้จากตำรา หรือความรู้เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว  คำถามวิจัย ภายใต้หัวเรื่องที่เราสนใจใคร่รู้นั้น มีเรื่องอะไรบ้างที่เรายังไม่มีความรู้ และเราต้องการหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ คำถามวิจัยมักจะเขียนในประโยคคำถาม

อ้างอิง
 สุวิมล ว่องวานิช. (2550). แนวทางการให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์       
            มหาวิทยาลัย.
 อาทิวรรณ โชติพฤกษ์. (2553). ก้าวสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
.http://lccu502.blogspot.com/2008/12/blog-post.html. เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม  2555.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น